7 พฤศจิกายน 2554

Review เที่ยวเชียงใหม่ - เวียงกุมกาม แอทแลนติสเมืองไทย

Review เที่ยวไทย สวัสดีค่ะ
ผ่านการรีวิวเที่ยวเชียงใหม่ตอนสองไปแล้ว หลังจากทานข้าวมื้อเย็นที่ผาลาดตะวันรอน ร้านอาหารชื่อดังของเชียงใหม่ แล้วนอนพักผ่อนเอาแรงที่โรงแรมยันตรศรี รีสอร์ทไปแล้ว เช้านี้ตื่นมาสดใส จะพาไปเที่ยวเชียงใหม่กันต่อค่ะ วันนี้จะเป็นรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวของเชียงใหม่อีกหนึ่งที่ ที่เที่ยววันนี้มีชื่อว่า "เวียงกุมกาม" ค่ะ

เราเคยมาเที่ยวเชียงใหม่ 2-3 รอบแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาที่นี่ เวียงกุมกาม ค่ะ อาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากมายนัก แต่กลายเป็นว่า หลังจากไปเยือนมาแล้ว รู้สึกได้ว่าเป็นที่เที่ยวที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งของเชียงใหม่ค่ะ เลยขอเอามาแนะนำไว้ในบล็อคนี้ด้วยนะคะ


เวียงกุมกาม : เมืองที่หายไป


   มีใครเคยได้ยินชื่อ เวียงกุมกาม ไหมคะ เดาว่าถ้าไม่ใช่คนเชียงใหม่ หรือคนภาคเหนือ คงจะไม่คุ้นหูสักเท่าไร เราก็เหมือนกันค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย ถ้าอย่างนั้น มาทำความรู้จักกับเวียงกุมกามกันซักหน่อยนะคะ
   เวียงกุมกาม เป็นเมืองในตำนานของชาวล้านนาค่ะ เดิมเชื่อว่าเวียงกุมกามนี้เป็นเมืองหลวงของภาคเหนือในสมัยศตวรรษที่ 13 ก่อนที่จะได้รับการย้ายมาตั้งเมืองหลวงใหม่ที่เชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน เวียงกุมกามถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระยาเม็งราย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง และมีความรุ่งเรืองตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมาจนถึงศตวรรษที่ 16 หลังจากนั้น เมืองนี้ก็ได้หายไปจากบันทึกในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายปี มีเพียงเชียงใหม่ที่เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาจนปัจจุบัน โดยไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมเวียงกุมกามถึงได้หายไป และหายไปไหน
   มีบางคนสันนิษฐานว่า ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เวียงกุมกามในสมัยพระยาเม็งราย ทำให้เมืองทั้งเมืองจมหายไป แล้วจึงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า ข้อสันนิษฐานนี้ เป็นจริงหรือไม่ค่ะ


   จนกระทั่งเมื่อ 20 กว่าปีมานี้เอง ในปีพ.ศ. 2527 เรื่องราวตำนานต่างๆก็ได้เป็นที่ประจักษ์ในที่สุดค่ะ โดยเริ่มจากชาวบ้านในหมู่บ้านแถบนี้ของเชียงใหม่ ทำการขุดดินที่สวนของบ้านตนเอง แล้วพบซากปรักหักพังของเมืองเก่าใต้พื้นดินของบ้าน บ้างก็ขุดดินเพื่อจะทำสวนปลูกต้นไม้แต่กลับพบพระเครื่องเป็นจำนวนมาก เมื่อทำการขุดค้นสำรวจเพิ่มเติม จึงได้พบกับเมืองเก่าเกือบทั้งเมืองที่ซ่อนอยู่ใต้เมืองใหม่อย่างเชียงใหม่ค่ะ
   ใช่แล้วค่ะ เวียงกุมกามเดิมถูกน้ำท่วมจริงๆ น้ำท่วมครั้งใหญ่พัดพาทั้งน้ำทั้งโคลนดินมาทับถม และบ้านเมืองวัดวาอารามของเวียงกุมกามถูกจมลงภายใต้ดินและฝุ่นเหล่านั้น กลายเป็นเมืองที่หายลับไปหลายร้อยปี ไม่มีใครพบเห็น จนกระทั่งเมืองเชียงใหม่ขยายตัวมากขึ้นๆ ผู้คนมากขึ้น อาณาเขตความเป็นเมืองและความเจริญแผ่ขยายมากขึ้น ชาวเมืองเชียงใหม่หลายต่อหลายคนได้อาศัยอยู่บนพื้นดินเหนือเมืองในตำนานที่หายไปของพวกเขาเองโดยที่เขาไม่รู้มาก่อน


   น่าตื่นเต้นมากๆเลยค่ะ แค่เราลองคิดว่า เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ถ้าได้เป็นค้นพบเมืองที่เคยได้ยินแค่ชื่อในตำนาน แล้วสุดท้ายเมืองนั้นก็มาปรากฎอยู่ตรงหน้าเราจริงๆ คงเป็นอะไรที่ตื่นเต้นและน่าดีใจมากๆ คล้ายๆกับเจอเมืองแอทแลนติสที่อยู่ในตำนานของชาวตะวันตกเลยทีเดียว

ที่ เวียงกุมกาม เชียงใหม่ นี้ อาจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้สวยงามติดตาเท่าไรนัก เป็นที่เที่ยวที่มีเพียงอิฐเก่าๆกับซากวัดเท่านั้น แต่เรากลับรู้สึกว่าทรงคุณค่าด้านจิตใจและติดอยู่ในใจเรามากทีเดียวค่ะ ดีใจมากๆที่ได้มาเยือนที่นี่ ขนาดตอนนี้มานั่งเขียนรีวิวเที่ยวเชียงใหม่ ตอนนี้อยู่ที่บ้านแล้ว ก็ยังคงจำความรู้สึกตื่นเต้นและปลื้มใจที่ได้ไปเยือนสถานที่ ที่เรื่องในตำนานกลายเป็นเรื่องจริงที่นี่ได้อยู่จนบัดนี้เลยค่ะ

ถ้าได้เที่ยวเชียงใหม่ก็อย่าลืมไปเยือนสถานที่ที่น่าสนใจแบบนี้ของเมืองไทยเรากันนะคะ

ปล. อย่าลืมให้ทิปเล็กๆน้อยๆเป็นน้ำใจแก่ไกด์ที่บรรยายให้ฟังนะคะ เค้าเป็นกลุ่มจิตอาสาที่มาช่วยนำเที่ยวเวียงกุมกามค่ะ

เครดิตประวัติและการค้นพบเวียงกุมกาม เชียงใหม่

- จากไกด์ที่บรรยายตอนเที่ยวชม และจาก website ด้านล่างนี้ค่ะ
http://thai.tourismthailand.org/where-to-go/cities-guide/attractions/info-page/destination/chiang-mai/cat/14/attraction/132/
http://th.wikipedia.org/wiki/เวียงกุมกาม


อ่านรีวิวตอนอื่นๆของ รีวิวเที่ยวเชียงใหม่ ซีรี่ย์ 1 ได้ที่นี่ค่ะ

ตอนที่ 1 รีวิวเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
ตอนที่ 2 รีวิวโรงแรมยันตรศรี รีสอร์ท เชียงใหม่
ตอนที่ 3 รีวิวเที่ยวเมืองกุมกาม เชียงใหม่ (แอทแลนติสเมืองไทย)
ตอนที่ 4 รีวิวเที่ยวเวียงจุมออน ร้านน้ำชาสีชมพู
ตอนที่ 5 รีวิวเที่ยวปางช้างแม่สา ช้างไทย เป็นได้มากกว่าที่คุณคิด
ตอนที่ 6 มินิรีวิวร้านกาแฟวาวี สาขาปางช้างแม่สา จิบกาแฟในบรรยากาศที่แตกต่าง
ตอนที่ 7 รีวิวโรงแรมปานวิมาน เชียงใหม่ สปา รีสอร์ท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น